Big Idea
นาดีร์ ซีร์รัส
ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้อยู่ ที่บ้านกำลังโดนน้ำจากคลองระบายน้ำและคลองชลประทานย่านรังสิตล้อมอยู่รอบทิศ ทางค่ะ เชื่อว่าอีกไม่เกินวันสองวันนี้น้ำคงเข้ามาถึงหมู่บ้านแน่
น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ ไม่มีใครน้อยหน้าใครเลย ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงหรือคนบ้านนอก ไม่ว่าจะจนหรือรวย เงินมาก เงินน้อย นายทุน อำมาตย์ ไพร่ ชาวไร่ ชาวนา ข้าราชการ กรรมกรแบกหาม หมู เป็ด ไก่ วัว ควาย สัตว์เลี้ยงแสนรักอย่าง หมา แมว หนู ปลา สารพัดชนิด โดนหมด โดนกันถ้วนหน้า
แม้กระทั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็โดนชาวบ้านด่ากันอ่วม ในฐานะที่ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ทั้งที่มีข้อมูลทุกอย่างครบถ้วนอยู่ในมือ
ถึงวันนี้อย่ามัวแต่เพ่งโทษใครเลยค่ะ เราทุกคนในประเทศนี้ล้วนเป็นหนึ่งคนที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาภัยธรรมชาติที่ เกิดจากกระบวนการบริโภคอันเกินจำเป็นทั้งหลายของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อขาย มากกว่าเพื่อยังชีพ ซึ่งทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปิดหน้าดินสำหรับเกษตรอุตสาหกรรมมาก มายมหาศาล
เราต่างร้องหาระบบคมนาคมขนส่ง ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้าอันเหลือเฟือ เพื่อให้ผลผลิตของเราขึ้นแท่นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศนี้ แล้วโอ่อวดกับใครๆ ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในแต่ละปีของเราเติบโตมากน้อยขนาดไหน
กระบวนการบริโภคในระบบทุนที่เราช่วยกันสร้างขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเรานี่เองที่ย้อนกลับมาทำร้ายพวกเรากันเอง
ยอมรับสภาพกับมันไปเสียเถอะ
ประเทศเกษตรกรรมในเขตมรสุมอย่างเมืองไทยเป็นสังคมน้ำมาแต่ไหนแต่ไร และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเราก็รู้วิธีที่จะอยู่กับน้ำแบบ “รู้จัก” และ “เข้าใจ” มายาวนาน จนเมื่อเมืองเติบใหญ่ขยายตัว ประชาชนแย่งกันทำมาหากิน เราต่างก็ลืมเลือนสิ่งที่ปู่ย่าตายายสร้างสมไว้ให้
แทนที่เราจะหาวิธีไม่ให้บ้านแบบเรือนแพปล่อยของเสียลงน้ำโดยตรง เรากลับย้ายคนขึ้นบกไปอยู่ตึกเปลี่ยนเรือนแพที่เป็น “บ้าน” ให้กลายเป็นร้านอาหาร แทนที่เราจะอยู่บ้านไทยแบบเสาสูงใต้ทุนโล่งเดิมๆ ก็ช่วยกันเปลี่ยนเป็นไทยประยุกต์ก่ออิฐโบกปูนใช้ใต้ถุนเป็นที่พักอาศัยของคน แทนคอกวัวคอกควายสมัยก่อน
น้ำมาเมื่อไหร่ก็พินาศสิคะ
โดยเฉพาะเมื่อเราเลือกวิธีสู้กับน้ำแบบทำสงครามกับ “ศัตรู” แทนที่จะเรียนรู้อยู่ด้วยกันแบบ “คนรู้จัก-รู้ใจ” เอื้อเฟื้อและแบ่งปัน
เอาล่ะ ถึงยังไงชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป
ระหว่างที่เตรียมรับน้ำอยู่นี้ก็หาทางหนีทีไล่ไปด้วย บ้านที่อยู่มี 2 ชั้น ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการขนข้าวของที่พอขนได้ขึ้นชั้นบนไว้ก่อน โดยเฉพาะพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น แต่ประเภทตู้เย็นใหญ่ๆ หนักๆ ช่างมันเต๊อะ คุยกับผู้รู้มาหลายคนแล้วยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ตู้เย็นอยู่ในกลุ่มที่มอเตอร์แช่น้ำได้ เพียงแต่ว่าต้อง ถอดปลั๊กออกก่อน และเมื่อน้ำแห้งต้องทำความสะอาดให้หมดจด หาเครื่องเป่าลมมาเป่าให้แห้งสนิทจริงๆ ก่อนจะลองเปิดใช้อีกครั้ง แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เรียกหาให้ช่างมาดูก่อนได้ ฉะนั้นไม่ต้องเสียเวลาขนตู้เย็น
หากน้ำมาจริงๆ ให้คิดถึงชีวิตตัวเองก่อน สมบัติบ้าทั้งหลายหาใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ลมหายใจไม่มีที่ไหนให้ซื้อ ดังนั้นเรื่องไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ฉันพุ่งไปที่เบรกเกอร์ก่อนอื่น ทดสอบให้แน่ใจว่าอันไหนเป็นเบรกเกอร์ชั้นบนหรือชั้นล่าง แยกย่อยชัดถึงขนาดว่าอันไหนเป็นน้ำอุ่น อันไหนเป็นแอร์ แล้วเขียนสติ๊กเกอร์แปะตัวไว้เลยตัวโตๆ พอน้ำมา ยกเบรกเกอร์ไฟชั้นล่างลงก่อนแค่นี้ก็เรียบร้อย
อาหารที่ตุนเอาไว้ไม่เน้นพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเลยค่ะ แต่เลือกข้าวกระป๋องแบบที่เปิดออกมาปุ๊บก็กินได้เลยกับผักกระป๋องอย่างถั่ว ลันเตา ข้าวโพดหวานแบบแกะเมล็ดเรียบร้อยที่พอเปิดกระป๋องมาก็เหมือนได้กินข้าวโพด ต้มหวานๆ ทันที นอกนั้นก็เป็นขนมปังกรอบจำพวกแคร็กเกอร์ที่อยู่ได้นาน กินง่าย ใช้ประทังความหิวได้ดี
คราวนี้ก็หันมามองสิ่งรายรอบตัวที่เหลือ ยังมีจักรยานที่บ้านอีก 2 คัน เดิมเอาไว้ถีบไปจ่ายตลาด แต่พอมาดูสภาพแล้วก็ต้องส่ายหัวถ้าหากจะเอามันไปถีบลุยน้ำที่คาดกันว่าน่าจะ ท่วมหมู่บ้านสูงถึง 2 เมตร ไม่มีทางเป็นไปได้เด็ดขาด
ในนาทีนั้นก็พลันนึกถึงจักรยานน้ำขึ้นมาเพราะเคยเห็นจากภาพข่าวที่สาวจีน คนหนึ่งกำลังขี่จักรยานน้ำที่ทำจากวัสดุเหลือใช้อยู่ในบึงน้ำของสวนสาธารณะ แห่งหนึ่ง
แล้วคุณกูเกิลเพื่อนที่แสนดีก็พาไปเจอกับจักรยานน้ำแบบที่เก๋เท่และน่าจะ เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแบบที่เคยเห็นในข่าวด้วยซ้ำไปก็เลยได้มาเป็น Big Idea ฉบับนี้
อันแรก เป็นไอเดียแสนบรรเจิดของการดัดแปลงกระดานโต้คลื่นหรือวินเซิร์ฟบอร์ดมาเป็น จักรยานที่ขี่บนน้ำได้ฉิวเลย เพียงแค่เปลี่ยนใบเรือมาเป็นจักรยานแล้วก็ใส่ใบพัดเสริมใต้ท้องกระดานเท่า นั้น อันนี้เป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของชาวโครเอเชียจากเว็บไซต์ http://www.waterbike.auto-mart.hr/ ในภาพประกอบมีรายละเอียดให้ดูครบถ้วน ใครที่มีหัวเชิงช่างลองเอาไอเดียนี้ไปดัดแปลงกระดานวินเซิร์ฟเก่าๆ ของตัวเองได้ อย่างน้อยก็พอแก้ขัดได้ในเวลาน้ำท่วมนะ หรือสั่งซื้อติดต่ออีเมลที่ info@auto-mart.hr
เอาไว้ใช้ถีบออกมาหาข้าวของกิน หรือมารับถุงยังชีพ โดยไม่ต้องรอให้ชะตากรรมตัวเองขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมี อยู่เพียงน้อยนิด
ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นจักรยานที่ตั้งใจผลิตขึ้นมา ใช้บนผิวน้ำจริงๆ ฝีมือโรงงานผลิตที่เมืองจีนค่ะ ทำจากไฟเบอร์กลาส น้ำหนัก 130 กิโลกรัม บรรทุกได้ 190 กิโลกรัม ราคาขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าที่สั่งซื้อ และสามารถส่งสินค้าถึงมือได้ภายใน 15 วัน ใครสนใจคงต้องติดต่อกันเอาเอง เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ http://www.ecvv.com/product/1862683.html
นี่เป็นอีกความคิดหนึ่งของการอยู่ร่วมกันกับน้ำ ไม่ใช่การเอาชนะน้ำ
เครดิต:
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1320743972&grpid=no&catid=&subcatid=