เทียนเหอ-1 ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์จากประเทศจีนที่สามารถประมวลผลได้ถึง 2,570 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที เรียบร้อยโรงเรียนจีนจนได้เมื่อการสำรวจเพื่อจัดอันดับความเร็วซูเปอร์คอมพิวเตอร์โลกครั้งล่าสุดพบว่า ซูเปอร์คอมพ์จากจีนสามารถเขี่ยเพื่อนร่วมสายพันธุ์จากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ และผงาดขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในฐานะคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูงสุดในโลกอย่างเป็นทางการ
เทียนเหอ-1 (Tianhe-1) ซึ่งมีความหมายว่าทางช้างเผือก ได้รับการการันตีว่าสามารถประมวลผลได้ถึง 2,570 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที (มีศูนย์ตามมาอีก 12 ตัว) ตัวเลขนี้ทำให้เทียนเหอ-1กลายเป็นอันดับหนึ่งของสำรวจโดยกลุ่ม Top 500(www.top500.org) ซึ่งทำการสำรวจและจัดอันดับความเร็วซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วโลกมาตลอด
อดีตแชมป์อย่าง Jaguar ซูเปอร์คอมพ์อเมริกันที่ติดตั้งในหน่วยงานราชการสหรัฐฯในรัฐเทนเนสซีจึงตกไปอยู่อันดับ 2 ในขณะนี้ ด้วยสถิติความเร็วในการประมวลผล 1,750 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที
ปัจจุบัน เทียนเหอ-1 ถูกติดตั้งในศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งชาติจีนในเขตเทียนจิน ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสัญชาติจีนเต็มตัว แต่หน่วยประมวลผลที่อยู่ภายในเครื่องส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชิปที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกัน เช่น ซีพียูจากอินเทล (Intel) และเอ็นวิเดีย (Nvidia)
นอกจากเทียนเหอ-1 ซูเปอร์คอมพ์สัญชาติจีนนามเนบิวเล (Nebulae) ซึ่งถูกใช้งานอยู่ที่ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งชาติจีนในเมืองเซินเจิน ทางใต้ของจีนก็ถูกจัดให้เป็นซูเปอร์คอมพ์ที่มีความเร็วสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็ยังถือเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกซูเปอร์คอมพิวเตอร์ต่อไป เนื่องจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์มากกว่าครึ่งหนึ่งในอันดับโลก Top 500 ถูกบันทึกว่ามาจากสหรัฐฯ นำหน้าจีนซึ่งกวาดไป 42 อันดับในรายการ ตามมาด้วยญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯถูกชิงมงกุฎไปสำเร็จโดยประเทศในเอเชีย เนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเคยครองแชมป์ทำเนียบซูเปอร์คอมพ์โลกมาแล้วในปี 2002 โดยเป็นซูเปอร์คอมพ์ที่ถูกระบุว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าซูเปอร์คอมพ์อเมริกัน 20 ตัวในยุคนั้นรวมกัน
ทำเนียบซูเปอร์คอมพ์ Top 500 นั้นมีการจัดอันดับ 2 ครั้งต่อปี โดยการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญสัญชาติเยอรมนีและอเมริกัน เพื่อจัดอันดับซูเปอร์คอมพ์ความเร็วสูงที่นานาประเทศมักสร้างขึ้นเพื่อรองรับการประมวลผลที่ต้องการทรัพยกรสูงมาก เช่นในงานพยากรณ์อากาศ การทดสอบทางอวกาศ การคำนวณทางวิทยาศาสตร์ และการวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อน เป็นต้น
เครดิต: http://www.manager.co.th/